วันพุธที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2555

ระนาดลิเก วิเศษฯ ในบางบรรเลงเพลงระนาด 5 ทุ่ม 19 มีนาคมนี้



คมสันต์พาไปพบ ระนาดลิเก วิเศษฯ ในบางบรรเลงเพลงระนาด 5 ทุ่ม 19 มีนาคมนี้

คมสันต์ สุทนต์ผู้ดำเนินรายการพาไปพบพูดคุยอย่างสนุกออกรสชาดเรื่องระนาดลิเก กับศิลปินวิเศษชัยชาญ อาจารย์พงษ์ศักดิ์ สวนศรี พระเอกลิเกเงินล้าน, ครูบุญเลิศ นาจพินิจ ศิลปินแห่งชาติ(ลิเก),พี่แก่-ครูสมชาย พิกุลทอง ต้นแบบคนระนาดลิเกยุคเวทีลอยฟ้า, ลุงยอม-ครูพยอม พันธุ์ไม้ และลุงปิ่น-ครูปิ่น ศรแก้ว อดีตระนาดลิเกเลื่องชื่อ พร้อมตามไปชมลิเกเวทีลอยฟ้า ที่บ้านโพธิ์ แปดริ้ว ฟังเพลงกระต่ายเต้น เพลงยอดนิยมที่ลิเกทุกคณะไม่ร้องไม่ได้ ในรายการบางบรรเลงเพลงระนาด ตอนระนาดลิเก วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม 2555 เวลา 23.00 น.(ห้าทุ่ม) ไทยพีบีเอส



“..ผมไม่ได้ว่าจะมาเอาดีทางระนาดลิเกเลย พอดีผมนั่งตีแล้วคนชอบ ลิเกชอบ ผมก็เลยนั่งตีมาถึงทุกวันนี้..”
“..ระนาดลิเกไม่มีศักดิ์ศรี เปรียบเทียบกับระนาดประชันไม่ได้เลย มันคนระบบ คือระนาดลิเกเป็นระนาดแบบเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ที่เขาประชันนะมาใส่ในเพลงลิเก ที่เขาประชันมันเหมือนเพลงต้นฉบับ หมายความว่าเราเป็นเหมือนหางแถว..”
พี่แก่-ครูสมชาย พิกุลทอง



“สิ่งที่เห็นได้ชัดเลยคือเปลี่ยนเป็นเวทีลอยฟ้า คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่สมัยนั้นช่วยกันคิด ผู้ใหญ่เขาก็ยังไม่ยอมรับเข้าใจ ถือว่าผมกล้า หน่วยหน้ากล้าตาย แล้วปี่พาทย์สมัยก่อนก็อยู่ตรงด้านข้างในหลืบ เหมือนกับละครชาตรี โบราณเขาวางกันมา เราก็อยากจะให้โชว์ความสวย ความอลังการ โชว์ความสามารถ เราอยากให้เห็นคนระนาดของเราบ้าง”
อ.พงษ์ศักดิ์ สวนศรี


“คนระนาดลิเกวิเศษฯ ตอนผมเด็กก็จะมีครูฟอง กับครูไข่ พี่น้องคู่นี้ สมัยก่อนแกจะเป็นคนหยิ่งรักศักดิ์ศรีของนักระนาดไทย ถ้าหาลิเกกรุงเทพฯมา เจ้าภาพจัดอาการเลี้ยงแกจะดูเลยว่า อาหารที่มาเลี้ยงลิเกเป็นยังไง แล้วอาหารที่มาเลี้ยงพวกปี่พาทย์เนี๊ยะเป็นยังไง ต้องเหมือนกัน เสมอภาคกัน ถ้าไม่พอใจนี่ แบกระนาดกลับเลย”
ครูบุญเลิศ นาจพินิจ ศิลปินแห่งชาติ



“คณะทองอาบ ไผ่ดำ ตีรับลิเกตั้งแต่หัวค่ำผมก็จนแล้วละ 6-7 เพลง แล้วพ่ออาจารย์ถาวร ผู้ใหญ่ประเสริฐ สดแสงจันทร์ เขาก็มาช่วยตีก็จนอีก ขนาดว่าเก่งกันแล้วนะ คืนนั้นระนาด 3 คนจนเพลงกันยันสว่าง(หัวเราะร่า) แล้วก็ไม่ได้ถามเพลงกันหรอกครับหลังงาน ลิเกเลิกก็ต่างคนต่างไป จนแล้วจนเลย เพราะบ้านก็ไม่ได้อยู่ใกล้กัน..”
ลุงยอม-ครูพยอม พันธุ์ไม้



“ลิเกมาอวดดีแถววิเศษไม่ได้น่ะ เมื่อสมัยก่อน ครูฟอง พ่อบุญธรรมของผมนี่นา ถ้าลิเกมาจากกรุงเทพฯ ทำตัวยะโส อวดดี แกจะรับเพลงสวมส่งเดชเลย ลิเกมันก็เจ๊งเลยครับ คือหมดความสนุก นัยประวัติแกเป็นคนโมโหร้าย เมาด้วย”
“ขอโทษเถอะครับ ถ้าลิเกร้องไม่ถูกไม่ต้อง แกจะเอาตีน(เท้า)ขวัก แล้วบอกมานี่เดี๋ยวกูจะร้องให้ฟัง”
ลุงปิ่น-ครูปิ่น ศรแก้ว



“..ระนาดลิเกก็มีความน่าภาคภูมิใจ เพราะมันไม่มีแบบแผน ไม่มีหลักสูตรสอนในวิทยาลัยนาฎศิลป ต้องใช้ภูมิความรู้ ไหวพริบปฏิภาณซึ่งน้อยคนที่จะทำได้อย่างพ่อ”“ในฐานะนักดนตรี
ในฐานะของความเป็นพ่อเขาเก่ง เขาไม่มีเงินเดือน เขาเลี้ยงลูกจนโตมาได้ บางทีผมยังคิด ถ้าผมมีลูก มีเงินเดือนแล้วตีระนาด จะมีเงินเลี้ยงลูกได้หรือเปล่า?”
เอกชัย โคกบัว : ทายาทระนาดลิเกวิเศษชัยชาญ



“ระนาดลิเกวิเศษฯ ทั้งสามท่านที่เป็นศิลปินต้นเรื่องจริงๆแล้ว..ไม่ได้วิเศษวิโสมาจากไหนหรอกครับ ทุกคนก็เป็นศิลปินเดินดินธรรมดาแต่หัวจิตหัวใจข้างในต่างหาก ที่มีแต่ความเมตตาไม่เคยคิดกลั่นแกล้งใคร อ่อนน้อมถ่อมตนยอมเป็นฝ่ายรับทำตาม ไม่คิดว่าตัวเองมีศักดิ์ศรี ไม่ยึดมั่นถือมั่นปล่อยวางได้ทุกเมื่อ ทั้งหมดคือคุณค่าที่ผมพาคุณผู้ชมมาตามหาเพื่อนำสิ่งดีๆไปปรับใช้กับชีวิตจริงของเรา อย่างน้อยบางบรรเลงเพลงระนาด ก็เป็นแรงบันดาลใจให้ผมเองกลับมาฝึกฝนระนาด เรียนรู้เพิ่มพูนและเตรียมพร้อมถ่ายทอดให้คนรุ่นต่อไปอีกครั้งครับ” คมสันต์กล่าวปิดท้ายรายการ

รายการบางบรรเลงเพลงระนาด ตอนระนาดลิเก วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม 2555 เวลา 23.00 น.(ห้าทุ่ม) ทาง ไทยพีบีเอส“แล้วคุณ..จะรักระนาด ทุกชาติไป”


วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ระนาดลิเกวิเศษฯ ตอนที่ 1



ระนาดลิเก วิเศษฯ

โหมโรงระนาดลิเก วิเศษฯ
เรื่องราวของระนาดลิเก วิเศษฯ (วิเศษชัยชาญ)เกิดขึ้นจากที่ผมต้องค้นหาข้อมูลเพื่อถ่ายทำรายการบางบรรเลงเพลงระนาด ก่อนหน้านั้นปลายปี 2554 เกิดมหาอุทกภัยจังหวัดแถบภาคกลางอาทิ นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง อยุธยา เป็นต้น ล้วนแต่เป็นแหล่งคณะลิเกที่สำคัญๆทั้งนั้น ผมและทีมงานถ่ายทำจึงตั้งใจหนีน้ำไปถ่ายทำระนาดลิเกโคราช เพราะที่นั่นน้ำไม่ท่วมและถือเป็นชุมชนลิเกขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไทย มีเรื่องราวขออดีตพระเอกลิเกพ่อเต็ก เสือสง่า, ครูบุญยัง เกตุคง ศิลปินแห่งชาติ และศิลปินลิเกอีกเกือบกว่า 100 คณะ***

แต่ด้วยเงื่อนไขบางประการ เหมือนบุพเพสันนิวาสที่ผมต้องมาเป็นผู้ดำเนินรายการตอนนี้ แล้วต้องกลับมาตั้งหลักถ่ายทำแถบท้องถิ่นภาคกลาง

ผมจึงนั่งทบทวนโจทย์ใหม่ เล็งว่าน่าจะเป็นอยุธยากับอ่างทอง ที่ว่าเป็นอยุธยาก็เพราะนึกถึง พ่อครูหอมหวล นาคศิริ(พ.ศ2442.-พ.ศ.2521) อ.บ้านแพรก กับพระพร ภิรมย์หรือ บุญสม อยุธยา(พ.ศ.2471-พ.ศ.2553) อ.พระนครศรีอยุธยา ที่ถือว่าเป็นตำนานลิเก เมื่อสืบถามหาคนระนาดในยุคนั้น ก็มีลุงลือ เสียชีวิตไปแล้ว ส่วนระนาดลิเกคู่ใจพระพร ภิรมย์ก็คือคุณครูกำนันสำราญ เกิดผล ศิลปินแห่งชาติ(พ.ศ.2470-ปัจจุบัน) บางบรรเลงเพลงระนาด ก็นำเสนอท่านไปแล้ว ตอนระนาดประชันคู่กับครูพินิจ ฉายสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติ (พ.ศ.2474-ปัจจุบัน)

ผมจึงมาหาจุดโฟกัสใหม่เป็นแถบ ป่าโมก วิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง พูดถึงป่าโมก อ่างทองใครๆก็ต้องนึกถึง คุณไชยา มิตรชัย ,ลิเกเด็กกำพร้าวัดสระแก้ว, คุณโน้ต เชิญยิ้มฯลฯ ภาพความทรงจำตอนเด็กๆของผมมันผุดขึ้นมา
ท่ารถ ป่าโมกในอดีตทจะมีป้ายคณะลิเกทาด้วยสีโปสเตอร์สะท้อนแสงบนแผ่นไม้อัดใหม่บ้างเก่าบ้างบอกชื่อคณะลิเกพร้อมเบอร์โทรติดต่อเยอะๆๆๆๆมาก, เห็นแล้วต้องคิดว่าว่าโลกนี้มีแต่ลิเก หรืออย่างไร? ในอดีตจะมีคุณลุง(เขาว่าเป็นพระเอกตกยาก)แต่งชุดลิเกมาร้องราชนิเกลิงขอเงินผู้โดยสารต่างถิ่น เป็นเหมือน Presenter ประจำท่ารถป่าโมก เดี๋ยวนี้ไม่หลงเหลือบรรยากาศแบบนั้นแล้วครับ

ส่วนที่วิเศษชัยชาญนี่ก็ไม่เบา มีทั้งศิลปินแห่งชาติ คุณครูบุญเลิศ นาจพินิจ และพระเอกเงินล้านอาจารย์พงษ์ศักดิ์ สวนศรี ผมว่าถ้าต้องเจาะลึกถ่ายทำกันจริงๆ 5 ตอนก็จะไม่จบเพราะข้อมูลสนุกๆน่าสนใจเยอะแยะมาก
ที่สำคัญประเด็นของเราคือ ระนาดลิเก ไม่ใช่พระเอกลิเกครับ

แล้วระหว่างอำเภอป่าโมก กับอำเภอวิเศษชัยชาญ ที่ไหนล่ะจะมีข้อมูลความน่าสนใจ คนระนาดลิเกที่เป็นต้นเรื่องได้มากกว่ากัน ?
ด้วยเหตุผลหลักนี้ ผมและทีมงานถ่ายทำจึงขอเลือกนำเสนอ ระนาดลิเกวิเศษฯ เป็นกรณีศึกษา

คนต้นเรื่อง ระนาดลิเก วิเศษฯ
คนต้นเรื่องหลักที่ใครๆก็ลงความเห็นว่า เป็นคนระนาดลิเกตัวจริง และเป็นต้นแบบระนาดลิเกยุคเวทีลอยฟ้าซะด้วยก็คือพี่แก่ หรือคนในวงการเขาจะเรียกกันว่า สมชาย พิกุลทอง ซึ่งเป็นเพื่อนรักระนาดคู่คิด อาจารย์พงษ์ศักดิ์ สวนศรี พี่แก่เป็นตระกูลระนาดลิเกโดยสายเลือด ย้อนไปตั้งแต่รุ่นครูฟอง บ้านดาบ-ปู่-พ่อ ก็เป็นรุ่นที่ 4 แล้วได้ฝึกฝนจนลูกชายเป็นนักระนาดลิเก รุ่นที่ 5

คนต้นเรื่องสมทบอีกสองท่านคือ ลุงพยอม พันธุ์ไม้ อดีตระนาดลิเกวิกเมื่อ 50 ปีก่อน แต่ตอนนี้ยกเครื่องปี่พาทย์ให้หลานชาย แล้วมาใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เล่นระนาดไหว้ครู ระนาดเครื่องมอญ ละครแก้บน ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่า ลุงยอม เรียกชื่อสั้นๆเพื่อความเป็นกันเอง เป็นนักระนาดที่ตีรับละครได้เพราะถูกใจผมที่สุด

ส่วนอีกท่านหนึ่งคือ ลุงปิ่น ศรแก้ว คณะนายไปล่ ระนาดลิเกอาวุโสแห่งเมืองวิเศษชัยชาญ สมัยเมื่อ 60 ปีก่อนลิเกคณะไหนมาเยือนถิ่นวิเศษ ต้องออกใบจองตัวลุงปิ่น ไปตีรับร้องทุกครั้ง จะไม่ให้เป็นเต็งหนึ่งได้อย่างไรเพราะตอนหนุ่มได้เรียนวิชาระนาดกับ พ่อครูพริ้ง ดนตรีรส, ครูฟอง บ้านดาบ(พ่อบุญธรรม), ครูสำรวย แก้วสว่าง
เล่นลิเกประจำวิกกรุงเทพฯ และเป็นคู่ประชันกินกันไม่ลงอีกท่านหนึ่งของครูไก่-สืบสุด ดุริยประณีต

คนระนาดลิเกวิเศษฯ ยังไม่ได้มีเท่านี้ ลุงชิด สุกใส บ้านยี่ล้น ตีระนาดไหวจัด ตอนนี้อายุมากแล้วเป็นโรคเบาหวาน, ลุงช่วย บ้านยี่ล้น ตีลิเกบางครั้ง(เป็นศิษย์ท่านครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ) เดี่ยวระนาดลาวแพน เพราะเหมือนระนาดจะพูดได้ ตอนนี้ยังสอนเด็กๆในท้องถิ่น, ลุงประจิม สิทธิโชค วัดขุมทอง(เป็นลูกศิษย์ของครูชื้น ดุริยประณีต), พ่อนุ่น-วิชัย โพธิ์ระย้า(เสียชีวิตแล้ว) เป็นศิษย์รักของลุงปิ่น
แต่ถ้าโยงไปถึงระนาดประชันคนวิเศษฯ จะต้องนึกถึง ครูผู้ใหญ่ประเสริฐ สดแสงจันทร์ ฉายาสิงห์สามจังหวัด

โปรดติดตาม ระนาดลิเก วิเศษฯ ตอนต่อไป

• เปิดเรื่องระนาดลิเกที่วัดม่วง“ไหว้พระวิเศษ” ใหญ่ที่สุดในโลก
• ไปหาพี่แก่ ระนาดลิเกที่วัดนางชำ
• ครูบุญเลิศ นาจพินิจ พระเอกระนาดลิเก ฯลฯ